
งานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันสถานการณ์สาธารณภัยได้ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น การเตรียมความพร้อมเพื่อรับสาธารณภัยต่างๆ มีความสำคัญยิ่งต่อความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนและนักท่องเที่ยว
เกาะสีชังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของจังหวัดชลบุรี ซึ่งในแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีประชากรที่ตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่จำนวนไม่น้อย
ในอดีตเกาะสีชังไม่มีหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนและนักท่องเที่ยว เมื่อเกิดสาธารณภัยต่าง ๆ ต่อมาเมื่อสาธารณภัยนั้นทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเพื่อป้องกัน บรรเทาและช่วยเหลือประชาชนและนักท่องเที่ยว เทศบาลตำบลเกาะสีชังจึงจัดตั้งหน่วยงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักปลัดขึ้นมา เพื่อป้องกันบรรเทาและช่วยเหลือสาธารณภัยต่าง ๆ แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวที่อยู่ในเกาะสีชัง
ภารกิจและหน้าที่งานป้องกันและ บรรเทาสาธารณภัย เทศบาลตำบลเกาะสีชัง
1. รักษาความปลอดภัยของสถานที่ราชการ
2. ป้องกันและแก้ไขปัญหาจากอัคคีภัยหรือวาตภัย
3. จัดทำแผนป้องกัน ฝึกซ้อมแผน และดำเนินการตามแผน
4. ตรวจสอบ ควบคุมดูแล ในการจัดเตรียมและอำนวยความสะดวกในการป้องกันบรรเทาและระงับสาธารณภัยต่างๆ
5. ฝึกอบรมอาสาสมัครป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
6. บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน
7. งานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือตามที่ได้รับมอบหมาย
อุปกรณ์งานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เทศบาลตำบลเกาะสีชัง
ในส่วนของอุปกรณ์ ปัจจุบันงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยมีการเตรียมความพร้อมในส่วนของอุปกรณ์ ที่ทางราชการมีอยู่เพื่อใช้ในการปฏิบัติงาน ดังนี้
1. รถบรรทุกน้ำความจุ 10,000 ลิตร จำนวน 1 คัน
2. รถดับเพลิงความจุ 5,000 ลิตร จำนวน 1 คัน
3. แผงกั้น จำนวน 20 แผง
4. กรวย จำนวน 6 อัน
5. รถตรวจการณ์ จำนวน 1 คัน
6. เรือเร็ว จำนวน 1 คัน
7. สายดับเพลิง ขนาด 2.5 นิ้ว จำนวน 21 เส้น
8. หัวฉีดดับเพลิง ขนาด 1.5 นิ้ว จำนวน 8 เส้น
9. ปั๊มน้ำ จำนวน 5 เส้น
ภารกิจและหน้าที่งานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเทศบาลตำบลเกาะสีชัง
การเตรียมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
มีการเตรียมพร้อม บุคลากร เครื่องมือไว้ให้พร้อมตลอด 24 ชั่วโมง ให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การสื่อสารโดยวิทยุสื่อสาร รับแจ้งเหตุเพลิงไหม้ และสาธารณภัยต่าง ๆ ปฏิบัติหน้าที่ ตลอด 24 ชั่วโมง
ชุดปฏิบัติการ
– มีหน้าที่รับแจ้งเหตุสาธารณภัย ตลอด 24 ชั่วโมง เครื่องมือวิทยุสื่อสาร และโทรศัพท์ หมายเลขโทรศัพท์ 0 3821 6204
– ปฏิบัติงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่เกิดขึ้นในเขตเทศบาลและเขตพื้นที่ข้างเคียงที่ขอรับการสนับสนุน
การฝึกซ้อมแผนของงานป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยเทศบาลตำบลเกาะสีชัง
ในอดีตจนถึงปัจจุบัน งานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มีความสำคัญในการช่วยเหลืออุบัติภัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับประชาชนชาวเกาะสีชัง และเพื่อให้เจ้าหน้าที่งานป้องกัน ฯ มีความพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่ และการประสานงานกับหน่วยต่าง ๆ ได้อย่างมีระบบเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นจริง จึงต้องมีการซ้อมแผนต่าง ๆ ของเจ้าหน้าที่ป้องกัน ฯ
ในปัจจุบันการฝึกซ้อมแผนนั้น งานป้องกันฯ จะมุ่งเน้นไปที่การฝึกซ้อมแผนรองรับอุบัติภัยทางทะเล ซึ่งสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากการเกิดอุบัติภัยทางทะเลสามารถเกิดขึ้นได้ง่าย เพราะเป็นพื้นที่ ที่ตั้งอยู่กลางทะเล แต่งานป้องกัน ฯ ก็ยังมีการฝึกซ้อมแผนอื่น ๆ ด้วยเพื่อเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่ที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชนชาวเกาะสีชัง
ผลงานการฝึกซ้อมแผนของงานป้องงานและบรรเทาสาธารณภัย เทศบาลตำบลเกาะสีชัง
1. การซ้อมแผนรองรับอุบัติภัยทางทะเล
งานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้เข้าร่วมการซ้อมแผน รองรับอุบัติภัยทางทะเลร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ และเตรียมความพร้อมเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นจริง
ขั้นเตรียมแผน
งานป้องกันฯ ได้เข้าร่วมการประชุมกับหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อเตรียมพร้อมในการซ้อมแผน
ขั้นปฏิบัติ
งานป้องกัน ฯ ปฏิบัติหน้าที่ตามแผนที่วางไว้ ดังนี้
1. เมื่อเวลา 10.03 น. งานป้องกัน ฯ ได้รับแจ้งเหตุเรือไฟไหม้จากเจ้าของเรือทางวิทยุ
2. เมื่องานป้องกัน ฯ ได้รับเหตุจึงประสานงานให้หน่วยงานต่าง ๆ ได้รับทราบ และทำการเตรียม รถเทศบาลจำนวน 2 คัน เรือเร็ว 1 ลำ พร้อมกับเจ้าหน้าที่ จำนวน 7 คน มุ่งหน้าไปยังบริเวณสะพานกลาง
3. งานป้องกัน ฯ ได้นำเรือเร็วออกไปรับผู้ประสบภัย ณ จุดเกิดเหตุ (หน้าเกาะขามใหญ่) ที่ได้รับบาดเจ็บหนัก (ผู้ป่วยสีแดง) มายังสะพานกลางที่มีรถพยาบาลเตรียมไว้ เพื่อนำตัวส่งโรงพยาบาล
4. ท่านรองนายก ฯ นายเนาว์ วงษ์มณีวรรณ ทำการรายงานสถานการณ์ให้นายอำเภอได้รับทราบ
5. เจ้าหน้าที่งานป้องกัน ฯ ได้ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย และทำการขับรถส่งผู้ป่วย ที่ได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย (ผู้ป่วยสีเขียว) ส่งที่โรงพยาบาลเพื่อทำการรักษา
6. ท่านนายอำเภอรายงานทำการปิดสถานการณ์
ขั้นสรุป
– ในส่วนของการป้อง ฯ จากที่ประชุมก่อนเกิดเหตุการณ์ และหลังเกิดเหตุการณ์โดยภาพรวมสามารถปฏิบัติงานได้ดีเป็นไปตามแผนที่วางไว้
2. การฝึกซักซ้อมแผนช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติภัยทางน้ำ การซักซ้อมดับเพลิงและการซ้อมอพยพหนีไฟ เมื่อเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้บนเรือสินค้าต่างประเทศ
งานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ทำการฝึกซักซ้อมการช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติภัยทางน้ำ การซักซ้อมดับเพลิงและการซ้อมอพยพหนีไฟ เมื่อเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้บนเรือสินค้าต่างประเทศ ณ ทุ่น บริษัท เอส.พี. อินเตอร์ มารีน จำกัด เพื่อเตรียมความพร้อมในเรื่องเรือยนต์เร็ว ในการช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติภัยทางน้ำใน เบื้องต้น
ขั้นเตรียมแผน
งานป้องกันฯ ได้เข้าร่วมการประชุมกับหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อเตรียมพร้อมในการซ้อมแผน
ขั้นปฏิบัติ
งานป้องกัน ฯ ปฏิบัติหน้าที่ตามแผนที่วางไว้ ดังนี้
1. เมื่อเกิดเหตุไฟไหม้ ให้ผู้ที่อยู่บริเวณที่เกิดเหตุมารวมตัวที่จุดรวมพล เช็คชื่อ และตามหาผู้ที่ขาดหายไป
2. เมื่อมีคนขาดหายไป ทำการค้นหาและอพยพผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและทำการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเบื้องต้น และโทรแจ้งเจ้าหน้าที่งานป้องกันฯ เทศบาลตำบลเกาะสีชัง
3. เมื่อมีการแจ้งเหตุเข้ามา งานป้องกันฯ เทศบาลตำบลเกาะสีชัง ได้นำเรือยนต์เร็วออกทำการช่วยเหลือผู้ประสบภัยและไปยังสถานที่ที่ได้รับแจ้งเข้ามา
4. เมื่อมาถึงสถานที่เกิดเหตุ งานป้องกันฯเทศบาลตำบลเกาะสีชัง เข้าไปพบหัวหน้าคนงาน ณ จุดรวมพล พร้อมกับคำชี้แจ้งเรื่องเหตุการณ์ในเบื้องต้นและเตรียมพร้อมที่เข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย และทำการดับไฟที่ไหม้
5. เมื่อได้ฟังเหตุการณ์ในเบื้องต้นแล้ว งานป้องกันฯเทศบาลตำบลเกาะสีชัง จึงไปยังจุดเกิดเหตุเพื่อทำการดับไฟ
ขั้นสรุป
การฝึกซ้อมและจำลองเหตุการณ์ช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติภัยทางน้ำเป็นไปด้วยความเรียบร้อยปลอดภัยทุกประการ และงานป้องกันฯจะนำความรู้ที่ได้มาไปใช้ให้เกิดประโยชน์ พร้อมกับรับมือในสถานการณ์จริงต่อไป
นอกจากงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้มีการฝึกซ้อมแผนร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ แล้ว ในส่วนของงานป้องกันเองก็มีการฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่งานป้องกันฯ ภายในองค์กรด้วย
ในฝึกการอบรมของงานป้องกันฯ ภายในองค์กร มีวัตถุประสงค์เพื่อ เพิ่มความรู้ความสามารถ และสร้างทักษะเบื้องต้นให้แก่เจ้าหน้าที่ป้องกันฯ ทำให้ทราบถึงหน้าที่ที่จะปฏิบัติอย่างเป็นระบบตามแบบแผนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นไปตามขั้นตอนที่ถูกต้องปลอดภัย ทั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่เองและผู้ได้รับอุบัติเหตุ
การฝึกอบรมของงานป้องกันฯ ที่ผ่านมาซึ่งได้ฝึกเป็นประจำและสม่ำเสมอ เพื่อเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่ของงานป้องกันฯ
- การฝึกอบรมปฐมพยาบาลเบื้องต้น
ผลการปฏิบัติงานที่งานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ปฏิบัติเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในเขตพื้นที่เกาะสีชัง
1. ในช่วงเดือนกันยายน – เดือนตุลาคม เป็นช่วงที่มีสภาพอากาศชื้นเนื่องจากมีฝนตกต่อเนื่องตลอดทั้งเดือน จึงทำไห้มีสัตว์เลื้อยคลานออกมาเข้าบ้านเรือนประชาชนเป็นจำนวนมาก งานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเทศบาลเกาะสีชัง พร้อมเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งจากประชาชนจึงดำเนินการออกไปจับสัตว์เลื้อยคลานนั้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชน
2. ในช่วงเดือนพฤศจิกายน – เมษายนสภาพพื้นที่อำเภอเกาะสีชัง มีสภาพอากาศที่แห้งแล้งและมีลมกรรโชกแรง จึงทำให้เกิดไฟป่าและหมอกควันก่อให้เกิดมลพิษ ต่อประชาชนและนักท่องเที่ยวที่มาท่องเที่ยวในพื้นที่ งานป้องกันฯ เทศบาลตำบลเกาะสีชังได้เฝ้าระวัง ซึ่งอาจสร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง
3. วันที่ 16 – 19 ตุลาคม 2556 เกิดน้ำท่วมบริเวณตั้งแต่ ตรอกยายพีจนถึงหน้าธนาคารกสิกรไทย โดยไหลท่วมบ้านประชาชนที่อยู่บริเวณดังกล่าว ซึ่งสร้างความเสียหายแก่บ้านเรือนและทรัพย์สินของประชาชน ประมาณ 20 – 30 ครัวเรือน งานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ทำการยกตะแกลงฝาท่อระบายน้ำออก และติดตั้งจุดระบายน้ำเพิ่ม และได้นำรถดับเพลิงและรถน้ำของเทศบาลตำบลเกาะสีชัง มาช่วยสูบน้ำออก จึงทำให้น้ำที่ท่วมขังบริเวณดังกล่าวระบายน้ำได้ดี
4. ในช่วงเดือนสิงหาคม – กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็นช่วงฤดูหนาวทำให้เกิดคลื่นลมกรรโชกแรง จึงทำให้มีเรือสินค้าต่าง ๆ เข้ามาหลบคลื่นลมบริเวณ รอบเกาะสีชัง งานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจะได้รับแจ้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กับเรืออยู่บ่อยครั้งในช่วงฤดูหนาว เช่น เรือเกย เรือจม เรือไฟไหม้ เป็นต้น ทำให้เกิดความเสียหายกับเหตุการณ์ดังกล่าว อาทิ สะพานหัก เป็นต้น
การพัฒนาที่ต้องการให้เกิดขึ้นในอนาคตของงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเทศบาลตำบลเกาะสีชัง
เนื่องในปัจจุบันเขตเทศบาลอำเภอเกาะสีชังมีบริเวณหน้าน้ำที่อยู่ในความรับผิดชอบอย่างขว้างขวางซึ่งมีทั้งเรือเล็ก เรือใหญ่ เข้ามาจอดอยู่เป็นจำนวนมาก จึงทำให้เกิดอุบัติภัยต่าง ๆ ขึ้นอยู่เสมอ เช่น เรือไฟไหม้ เรือจม เรือเกย เป็นต้น เมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว งานป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยเทศบาลตำบลเกาะสีชังมีหน้าที่ให้การช่วยเหลือและระงับเหตุการณ์ต่างๆ แต่ปัญหาในการช่วยเหลือเมื่อเกิดอุบัติภัยทางทะเลในส่วนของงานป้องกัน ฯ คือยังขาดแคลนอุปกรณ์ต่างๆที่ใช้ในการช่วยเหลือ
งานป้องกัน ฯ จึงเล็งเห็นถึงความสำคัญในการจัดตั้งศูนย์ป้องกันภัยทางทะเลขึ้น เพื่ออำนวยความสะทั้งในเรื่องของการเดินทาง การรับข้อมูลข่าวสาร และการมีความพร้อมในเรื่องของอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น เรือดับเพลิง เรือกู้ภัย และอุปกรณ์ในการช่วยเหลือต่างๆ พร้อมทั้งการพัฒนาเจ้าหน้าที่ป้องกันฯ ให้มีความรู้ และสามารถที่จะปฏิบัติงานได้จริงอย่างมีระบบ โดยมีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ป้องกัน ฯ อย่างสม่ำเสมอเพื่อเตรียมพร้อมรับอุบัติภัยที่เกิดขึ้นต่อไป